เวิลด์คลาส ตอนที่ 1 แบ่งออกเป็นสองตอนย่อยครับโดยเริ่มจาก พอล ป็อกบา ก่อน

เขากลับมาเป็นเจ้ามือป๊อกเด้งที่โคตรน่ากลัว

อารมณ์เหมือนเป็นเม่นตัวยักษ์ ที่หนามกลางแผ่นหลังมันพร้อมทิ่มแทงผู้บุกรุกในทุกจังหวะ-แม้ว่าจะบอด แต่ก็จั่วเก้าหลังมาให้ขาหงายเงิบได้ตลอด

ยิ่งวิถีบอลโรย ๆ สร้างโอกาสทำประตูสำคัญ จนนำมาสู่การสกัดเข้าประตูตัวเองของ มัตส์ ฮุมเมิ่ลส์ เนี่ยแหละ

เวิลด์คลาส เลย

เปรียบเป็นกอล์ฟ ก็คงเหมือนกับเป็นช็อตระเบิดทรายที่ลูกทะลุอากาศ มาตกลงบนกรีน แล้วหยุดวิ่งทันที เหลือเพียงแรงเฉื่อยที่พามันไหลไปจนใกล้หลุมที่สุด

เปรียบเป็นบาสเกตบอล ก็คงเหมือนการเฟด อเวย์ จากเขตกะโหลก หลุดไปนอกเส้นสามแต้ม แล้วปล่อยลูกลอยสู้กับแรงโน้มถ่วง ก่อนกระซวกกับห่วงอย่างเหลือเชื่อ

เป็นลูกจินตนาการที่เหนือชั้น ที่ไม่น่าจะได้เห็นกันเลยในเวอร์ชั่นเสื้อสีแดงที่เขาใส่อยู่ในอังกฤษ

หลายคนมองว่าส่วนสำคัญของฟอร์มที่เอกอุ มันมาจากมดงานตัวเล็กที่สุดในทีมที่ชื่อ เอ็นโกโล่ ก็องเต้ เพียงอย่างเดียว

ไม่ผิดเลย ก็องเต้ คือเหตุผลสำคัญของ ป็อกบา และเพลย์เมกเกอร์ทุกคนบนโลกนี้

ก็องเต้ เหมือนโคลนนิ่ง โคล้ด มาเกเลเล่ ส่งผลบุญให้ผู้เล่นหมายเลข 10 ทุกคนมีความสุขเสมอ เพราะตัวเองไม่ต้องรีบลงมาเพรสซิ่งทันทีที่แดนบนเสียบอล

อย่างน้อยให้เป็นหน้าที่ของห้องเครื่องตัวตัดเกม ที่ทำให้บอลสวนกลับแวะทักกับคำว่า เสียเวลา จนกองกลางตัวบน ลงมาช่วยเพรส ปิดโอกาสการทำเกมได้ทัน

สำคัญมาก สำหรับมายเซ็ตของผู้เล่นเกมรุกนะ สำคัญที่สุดเลย ที่ไม่ต้องแบ่งซิริบั้มในหัวว่า กูต้องไปเล่นเกมรับ-เอาสมองไปสร้างเกมรุกให้เต็มที่ไม่มีแผ่ว

สังเกตได้ชัดอีกข้อคือ การเล่นฟุตบอลของ มาเตโอ โควาซิซ และ เมสัน เมาท์ ในแมตช์ที่พวกเขาเจอกันน่ะ มันคนละทรงกับตอนอยู่เชลซีเลย

เมาท์ ในเวอร์ชั่นความหวังใหม่แดนผู้ดี หลายครั้งเขาต้องลงมาช่วยเชื่อมพื้นที่กลางสนามกับหน้ากรอบคู่แข่ง ส่วนหนึ่งเพราะ เดแคลน ไรซ์ ถอยลงไปกองหลังเมื่อทีมครองเกม

แถม เซาธ์เกต ยังสร้าง คาลวิน ฟิลลิปส์ เป็นไพ่โจ๊กอิสระเสรีอีกตัว พื้นที่ของเมาท์ เลยไม่ได้เป็นการทะลวงไส้แนวรับของ โครเอเชีย เพียงอย่างเดียว

หรือ มาเตโอ โควาซิซ ในเวอร์ชั่นต้องเล่นเกมรับตัดเกมเต็มเหนี่ยว เขาออกลูกโฉ่งฉ่างหลายครั้ง เพราะจังหวะมันไม่ได้ เหมือนที่จะมีเพื่อนก็องเต้ผู้น่ารัก ช่วยกรองของเสียให้

แต่อีก 1-2 สาเหตุเหมือนกันที่ดูเหมือนครีบปลาวาฬ จะมาช่วยให้เขาว่ายน้ำในมหาสมุทรลูกหนัง เลส์ เบลอส์ ได้อร่อยขึ้น

ข้อแรกคือ เพื่อนร่วมทีม และภาษาการสื่อสาร

จริงอยู่ที่ ป็อกบา มีกลุ่มเพื่อนตราไก่อย่าง อองโตนี่ มาร์กซิยัล อยู่ในคลับปิศาจ และก็เขามีภาษาอีกหลายภาษาที่สื่อสารได้ดี

แต่ความอบอุ่นมันไม่เทียบเท่าแน่นอน ยิ่งการเล่นลูกยากๆ การเข้าทำที่ต้องใช้ปากช่วยพูด บางทีมันมีผลนะ

เท่าที่พยายามดู คือได้เห็น ป็อกบา ใช้บอลทัชเดียวบ่อยกว่าสมัยเป็นลูกมือ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา มาก ๆ เลย ออกง่ายจ่ายคล่อง มือเติบเหมือนกระเป๋าหนัก (อันนี้ไม่เกี่ยว)

ทั้งที่อยู่ด้วยกันในแคมป์ก็น้อยกว่า แถมมาจากหลากสโมสรอีก ภาษาและการสื่อสารมันจะไม่เกี่ยวได้อย่างไร

อีกข้อหนึ่งคือ คาริม เบนเซม่า และวิธีการเล่นในแบบฉบับของ ดิดิเยร์ เดส์ชองส์

คาริม เบนเซม่า เหมือนศูนย์รวมดวงใจคนฝรั่งเศสทั้งชาติ เขาทำงานของตัวเองยอดเยี่ยม ทั้งกดดัน มัตส์ ฮุมเมิ่ลส์ จนไม่กล้าถลำขึ้นไปโอเวอร์แล็บ การช่วยพยุงให้ เอ็มบัปเป้ รุ่นน้อง ได้เคลื่อนท่ีสอดส่องหาบอล

และยังเปิดพื้นที่ให้เพื่อนที่เติมจากริมเส้น เข้ามามีบทบาทกับเกมรุกได้กลมกลืนอีก

พอพื้นที่มี ป็อกบาที่วิชั่นแจ่มแจ้งอยู่แล้ว ออกบอลไปทางไหนก็มีหมู่มิตรสหายมารองรับตลอด แถมกลายเป็นลูกเซียนไปด้วยเลย-ส่วนตัวมองว่า ถ้าเพื่อนไม่ทันจังหวะ ลูกที่จ่ายแล้วดูง่าย จะกลายเป็นของเสียมากกว่า

ส่วน ดิดิเยร์ เดส์ชองส์ เขาทำความเข้าใจในธรรมชาติของ ป็อกบา มาอย่างถี่ถ้วนจริง ๆ

จะเห็นได้ว่าคู่กลางที่เลือกลงสนาม สามประสานออก สตาร์ทตัวจริง เปิดทางให้ ป็อกบา ได้ฉายที่สุดในโลกแล้ว

ถ้าไม่นับ อองตวน กรีซมันน์ ที่ทะยานขึ้นไป ช่วยเกมรุกแล้ว ก็องเต้ เปรียบเป็นแผนกปัดกวาด ผนึกกับ ราบิโอต์ บ็อกซ์-ทู-บ็อกซ์ ชั้นเลิศ ที่เหลือก็แค่ป้อนหน้าที่ให้ ป็อกบา เป็นเพลย์เมกเกอร์ ผสมเพลย์บอยเต็มตัว เท่านั้น

เพลย์บอยที่เล่นสนุกกับแนวเพรสของ เยอรมัน เคาะ/ม้วน/คลึง/หยอด ให้ทะลุปล้องคู่แข่งไปเรื่อย แม้จะโดนไล่จนอยู่บ้าง แต่สัดส่วนการตีเพรสเปล่า ของอินทรีเหล็กน่าจะมากกว่า

ขึ้นชื่อว่าเป็นเชฟ เดส์ชองส์ กลับปรุงให้ ป็อกบา ได้ธรรมดาที่สุด ไม่เสริมเติมแต่ง เดิม ๆ ทั้งชิ้น ก็มันอร่อยอยู่แล้วน่ะนะ

หลังจากนี้ คือบทพิสูจน์แล้ว ว่าอร่อยจริงไหม แชมป์โลก และ รองแชมป์ยูโรอย่าง ฝรั่งเศส

ป็อกบาเนี่ยแหละ หัวใจของพวกเขาเลย

ทศกัณฐ์ ก็เอาหัวใจเขาไปไม่ได้

แต่ก็มีคนเอาไปได้นะ เดาไม่ยากเลย

โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ?